ฟ้าลายเห็ดบด
ภาพโดย คุณสุธาสินี ไชยโชติวัฒน์ ถ่ายที่ จ.เชียงใหม่
คุณมรกต มูลสาร (โจ๋) สมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆ ซึ่งอยู่ที่ อ.ทรายมูล จ.ยโสธร ได้ให้ความรู้กับเพื่อนๆ สมาชิกว่า ท้องฟ้าแบบนี้ชาวอีสานเรียกว่า “ฟ้าลายเห็ดบด” และเล่าว่า
“คนแถวบ้านบอกว่า เห็ดมักออกถ้าฟ้ามีเมฆลายนี้ และมันก็จริงอย่างเขาว่า ไม่เชื่อลองดู…ไม่ได้ยกเมฆ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน”
หมายเหตุ: คุณมรกตได้ให้ข้อมูลนี้ไว้อย่างน้อยก่อนเดือนมีนาคม พ.ศ.2554 และความรู้เรื่องฟ้าลายเห็ดบดของชาวอีสาน ได้รับการบันทึกไว้ในบทความ “รื่นรมย์ ชมเมฆ” ในนิตยสาร สารคดี ปีที่ 27 ฉบับที่ 313 มีนาคม 2554 หน้า 111 และหนังสือ คู่มือเมฆ Cloud Guidebook สนพ.สารคดี หน้า 80
ในเว็บชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีข้อความระบุว่า
“ส่วนการดูว่าเห็ดเริ่มออกแล้วนั้น ชาวบ้านอาศัยท้องฟ้าเป็นผู้ทำนาย วันใดท้องฟ้ามีกลุ่มก้อนเมฆลอยเป็นลายดอกสร้อย เรียกว่า ฟ้าลายเห็ดบด ให้รีบเข้าป่าโคกได้เลย ไม่เคยผิดหวัง” [อ้างอิง : เว็บนี้ ความเห็นที่ 142 โดย ปิ่นลม]
ต่อมาเมื่อวันพุธที่ 30 เมษายน 2557 ผมได้มีโอกาสไปให้สัมมนาเรื่อง เมฆ & ฝนฟ้าอากาศ กับครูที่ จ.ยโสธร และได้มีโอกาสพบกับคุณมรกต ซึ่งแวะมาเยี่ยม ฟังสัมมนา และพาไปหาซื้อเห็ดบด (และอื่นๆ) ที่ ตลาด อ.ทรายมูล
เห็ดบดของคนอีสานนี้ คนเหนือเรียกว่า เห็ดลม [ข้อมูลจาก ครูป๊อบ & ครูน้อย-วิไลลักษณ์ แสนเสนา] ส่วนคนภาคตะวันออกเรียกว่า เห็ดขอน [ข้อมูลจากคุณ Montha Chanasit]
หากเห็ดบดแห้ง คนอีสานจะเรียกว่า เห็ดกระด้าง ส่วนคนเหนือบางท้องถิ่น (่เช่น เชียงใหม่) เรียกว่า เห็ดลมแห้ง [ข้อมูลจาก ครูป๊อบ] แต่บางท้องถิ่น (เช่น จ.แพร่) ก็ยังคงเรียกว่า เห็ดลม เช่นเดิม [ข้อมูลจาก ครูน้อย]
เกร็ดความรู้ทางภาษา : คนเหนือมีสำนวนว่า “ขายเห็ดลม” หมายถึง คุยกันจนเพลิน หรือเม้าท์กระจาย [ข้อมูลจาก ครูน้อย & ครูป๊อบ]
กลับมาที่เรื่อง เมฆ กันอีกครั้้ง คนใต้ (อย่างน้อยแถบสงขลา) เรียก ฟ้าลายเห็ดบดของคนอีสานว่า เมฆแกล๊ดฝ่า (เมฆเกล็ดฟ้า) โดยมีเรื่องเล่าว่า เด็กผู้ชายบางคนอาจถูกกล้อนผมเป็นทรง “แกล๊ดฝ่า” นี้ ทั้งนี้มีคำอธิบาย 2 อย่าง ได้แก่
1) หากเด็กซน ก็จะถูกผู้ใหญ่จับกล้อนผมเป็นผมทรงนี้
2) เนื่องจากเด็กอยู่ไม่สุขขณะตัดผม ทำให้ทรงผมที่ได้ออกมาเป็นลายแบบนี้
……………………………………………………………………………………
ผู้บันทึกเรื่อง : บัญชา ธนบุญสมบัติ
แก้ไข-ปรับปรุงล่าสุด : ศุกร์ 2 พฤษภาคม 2557 11:40น.
หมายเหตุ: หากพบคำอธิบายที่คลาดเคลื่อน หรือต้องการให้เพิ่มเติมข้อมูล โปรดแจ้งได้ที่ www.facebook.com/buncha2509 – ขอบคุณครับ
Leave a Comment